EXIM BANK เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 67 กำไรสุทธิ 132 ล้านบาท โต 18.71 % ยกระดับนวัตกรรมการเงิน Green Export Supply Chain

EXIM BANK เผยผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 67 กำไรสุทธิ 132 ล้านบาท โต 18.71 %  หวังยกระดับนวัตกรรมการเงิน Green Export Supply Chain ชี้เศรษฐกิจไทยเร่งเครื่องโตได้ถึง 3% 

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของ EXIM BANK  ไตรมาสแรกปี 2567 ที่ผ่านมามีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 5,853 ล้านบาท มีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพัน 174,196 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,474 ล้านบาท หรือ 7.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันเพื่อการลงทุน 127,516 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน , สินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในโครงการระหว่างประเทศทั้งสิ้น 50,210 ล้านบาท เมื่อจำแนกเป็นรายตลาดที่สำคัญ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจไทยให้ขยายไปกลุ่มประเทศ CLMV และ New Frontiers ที่มีศักยภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมีสินเชื่อคงค้างและภาระผูกพันในกลุ่ม CLMV และ New Frontiers จำนวน 43,257 ล้านบาท  และปริมาณธุรกิจบริการประกันการส่งออกและการลงทุนเท่ากับ 54,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.45% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 


โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 EXIM BANK มีจำนวนลูกค้า 5,607 ราย ในจำนวนนี้เป็นลูกค้า SMEs มากถึง 81.15% ส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการสะสมประมาณ 19,840 ราย  

ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีจำนวน 8,600 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 เท่ากับ 4.99% ด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 185.72% ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 805 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 132 ล้านบาท


ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK มองภาพเศรษฐกิจไทยปี 2567 ส่งสัญญาณฟื้นตัว มีแนวโน้มขยายตัวอยู่ที่ระดับ 2-3%  เครื่องยนต์สำคัญขยายตัวพร้อมกันในรอบ 6 ปี ทั้งการบริโภคและการลงทุนภาครัฐและภาคเอกชน การท่องเที่ยว ตลอดจนการส่งออกซึ่งมีโอกาสขยายตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปี โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก ที่มีมูลค่าเพิ่มและผู้บริโภคทั่วโลกยินดีจับจ่าย EXIM BANK ในฐานะ Green Development Bank เสนอผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทางการเงิน (Greenovation) เป็นสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ สำหรับ Suppliers ผู้ผลิต และผู้ซื้อ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอด Supply Chain การส่งออกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างระบบนิเวศและสังคมคาร์บอนต่ำ  

สำหรับการฟื้นตัวช้าของภาคการผลิต และหนี้ครัวเรือนในระดับสูงเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ ราคาน้ำมันโลกและราคาโภคภัณฑ์ต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นตาม


กรรมการผู้จัดการ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในตลาดโลก โดยยกระดับคุณภาพและมูลค่าสินค้าเพื่อเจาะตลาดที่มีความต้องการสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องใช้ในบ้าน อุปกรณ์ Gadgets และสินค้ารักษ์โลก ขณะเดียวกันต้องติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามมาตรการทางการค้าด้านสิ่งแวดล้อมในการส่งออกไปตลาดสำคัญของโลก เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (EU) จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย ซึ่งคิดเป็น 51% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยในปี 2566 ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่า ในปี 2564 สัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทยอยู่ที่ 7.6% ของมูลค่าส่งออกรวม ต่ำกว่าหลายประเทศ อาทิ เยอรมนี (15.4%) ญี่ปุ่น (15%) จีน (10.4%) และเกาหลีใต้ (10.2%)




EXIM BANK ได้พัฒนา Greenovation ที่มุ่งยกระดับสินค้าส่งออกของไทยเป็นสินค้ารักษ์โลกหรือ Green Products ควบคู่กับการสร้าง Green Export Supply Chain ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิตที่ลดการปล่อยมลภาวะ บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายเองได้ตามธรรมชาติ และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด เป็นต้น นับเป็นธนาคารแรก ๆ (Lead Bank) ที่มี Solution ทางการเงินช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้ครบทุก Scope ทั้ง 1-2-3 กล่าวคือ สนับสนุนการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตให้สะอาดขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน และการช่วยให้ Suppliers ดำเนินธุรกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ Green Export Supply Chain  อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เริ่มต้นที่ 3.85% ต่อปี ให้แก่ Suppliers และผู้ซื้อปลายทางของผู้ประกอบการตลอด Supply Chain ที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออก ช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำได้ โดยอ้างอิงอัตราดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsors) ได้รับ